วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

Amazing Tea

Amazing Tea ( ชา )

       ปัจจุบันชาเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่มีผู้ดื่มเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับกาแฟและโกโก้ ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นหอมคนจึงนิยมดื่มกันอย่างแพร่หลาย แต่ละชนิดจะมีลักษณะแตกต่างกันไปและจะต่างกันตรงกรรมวิธีในการผลิต ชาจะถูกจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูปหลังจากการเก็บเกี่ยว และชานั้นยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายอีกด้วย ซึ่งจะได้ศึกษาข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับชาในประเด็นศึกษาต่อไปนี้

1. ประวัติของชา     

ในปัจจุบันนี้คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก ชา เครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมของคนหมู่มากในยุคนี้ คนอังกฤษนั้นดื่มชากันมากกว่า14ล้านลิตรต่อปี ประมาณ4ถ้วยต่อวัน ซึ่งชานั้นมีต้นกำเนิดมายาวนานแต่อังกฤษไม่ใช่ชาติแรกที่ค้นพบชา หากแต่จะเป็นชาวจีนที่ได้ดื่มเครื่องดื่มนี้ซึ่งประวัติของชานั้น จะได้ศึกษาต่อจากนี้ไป
ชา มาจากพืชตระกูลคาเมเลีย ไซเนนซิส (Camellia sinensis) ถิ่นกำเนิดอยู่ในจีนและอินเดีย มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบเขียว หากปล่อยให้เติบโตเองในป่าจะให้ดอกสีขาวส่งกลิ่นหอมในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อดอกชาโตเต็มที่ จะให้ผลชาที่ภายในมีเมล็ดเล็กๆ หนึ่งถึงสามเมล็ด ในการแพร่พันธุ์ ต้นชาต้องได้รับการผสมละอองเกสรกับต้นชาต้นอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนยีนและโครโมโซมซึ่งกันและกัน เมื่อชาต้นใหม่เจริญงอกงาม จะคงลักษณะที่แข็งแรงบางส่วนของพ่อแม่ ด้วยวิถีเช่นนี้ ต้นชาจึงเป็นพืชที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวของมันเอง
คนจีนรู้จักดื่มชามาหลายพันปีแล้ว มีตำนานเล่าว่า จักรพรรดิเสิน-หนง (Emperor ShenNung) วันหนึ่งขณะทรงต้มน้ำร้อนได้มีใบชาปลิวตกลงในหม้อน้ำเดือด ทรงชิมดูพบว่ามีรสชาติดีและมีกลิ่นหอมจากนั้นมาชาก็เป็นที่รู้จักและนิยมดื่มกันทั่ว
ลาลูแบร์ราชฑูตฝรั่งเศส ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พูดถึงการดื่มชาในสยามว่าดื่มเฉพาะในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ถือเป็นมารยาทผู้ดีอันจำเป็นต้องนำน้ำชามาเลี้ยงผู้มาเยี่ยม และคำว่า "ชา" คนไทยก็เรียกกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางแล้ว 

ชาในประเทศไทย
        
  ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่จำเป็นในสังคมไทย การพัฒนาอุตสาหกรรมชาของไทยเริ่มอย่างจริงจังที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เมื่อปีพ.ศ.2480 มีนายประสิทธิ์ และนายประธาน พุ่มชูศรี ตั้งบริษัทใบชาตราภูเขาจำกัด นายพร เกี่ยวการค้า นำผู้เชี่ยวชาญชาวฮกเกี้ยนมาถ่ายทอดความรู้เรื่องชาแก่คนไทย รวมทั้ง ป๋าซุง นายทหารกองพล 93 บ้านแม่สลอง ต่อมาสองพี่น้องตระกูลพุ่มชูศรี ได้ขอสัมปทานทำสวนชา จากกรมป่าไม้ในนามของ บริษัทชาระมิงค์ ภายหลังเอกชนเริ่มให้ความสนใจอุตสาหกรรมชามากขึ้น จึงมีการขายสัมปทานสวนชาแก่บริษัทชาสยามผู้นำใบชาสดมาผลิตชาฝรั่งในนาม "ชาลิปตัน" จนกระทั่งปัจจุบัน

ชากับความเป็นอยู่และประเพณี 

พระสงฆ์ฉันน้ำชามาแต่โบราณ จึงมีประเพณีถวายน้ำชาพระสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ มีหมายรับสั่งสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อมีพิธีสงฆ์ในงานหลวงปรากฏเป็นหลักฐานว่า "ให้แต่งน้ำชาถวายสงฆ์ทั้ง 4 เวลา ให้หัวป่าก์พ่อครัวรับ เครื่องชา ต่อวิเสทหมากพลู ต้มถวายพระสงฆ์ให้พอ 8 คืน"
สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีทูตฝรั่งเข้ามา การต้อนรับของทางการไทยก็แข็งขันมาก นอกจากผลไม้พื้นเมืองแล้ว ก็มีใบชา กาแฟไปต้อนรับทูต
พิธีไหว้บรรพบุรุษของจีน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ น้ำชาและเหล้าเวลาทำความสะอาดหลุมศพ(เช็งเม้ง) จะต้องไหว้น้ำชาทั้งที่สุสานและที่บ้าน แม้พิธีแต่งงานชาวจีนพิธียกน้ำชาก็มีบทบาท ใช้เคารพผู้ใหญ่ให้เมตตาคู่บ่าวสาว เพื่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สมบูรณ์
ชามีประวัติมายาวนาน ซึ่งชาวจีนเป็นผู้ค้นพบและเริ่มต้นการดื่มชา โดยชาได้แพร่เข้ามาสู่ไทยจนเป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มกันเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในไทยกับจีนแต่เป็นหลายๆประเทศทั่วโลกที่นิยมบริโภคชากันอย่างแพร่หลาย

2. ลักษณะของต้นชา

  ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเจอชาในชีวิตประจำวันที่เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเรียบร้อยแล้วเช่น น้ำชาตามร้านต่างๆ เครื่องดื่มที่มีขายในร้านสะดวกซื้อ หรืออาจจะเป็นใบชาที่ผ่านการกรรมวิธีต่างๆจนสามารถนำมาชงดื่มได้แล้ว แต่บางคนอาจจะไม่เคยรู้เลยว่าต้นชาที่แท้จริงนั้นมีลักษณะยังไงและเป็นแบบไหนซึ่งจะได้ศึกษาต่อจากนี้ไป
ในการเพาะปลูกมักตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่มสูงประมาณ 0.6-1 เมตร เพื่อความสะดวกในการเก็บใบชา ส่วนการเก็บใบชามักจะเก็บแต่ใบอ่อน ๆ แรกผลิออกเป็น 3 ใบเท่านั้นชาเป็นพืชกึ่งร้อนที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่นและมีฝน โดยชาที่ผลิตทางการค้าส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ได้แก่ กลุ่มชาพันธุ์จีน (Chinese Tea) และกลุ่มชาพันธุ์อัสสัม (Assam tea)
      
  2.1 กลุ่มชาพันธุ์จีน (Chinese Tea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. sinensis เป็นสายพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศไต้หวันและจีน นิยมปลูกกันมากเนื่องจากให้ผลผลิตสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด ในประเทศไทยปลูกกันมากทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งการปลูกจะปลูกเป็นแถวแบบขั้นบันได มีการจัดการแปลงปลูกอย่างเป็นระบบและตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอ



                                   

  ภาพที่ 2.1 ตัวอย่างลักษณะต้นชาพันธุ์จีน


ลักษณะส่วนต่างๆของต้นชาพันธุ์จีน
        
         ต้นชา เป็นพรรณไม้ขนาดย่อมจนถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ตามกิ่งอ่อนมีขนปกคลุม พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์เดิมของประเทศจีน แต่มีการปลูกกันบ้างประปรายทางภาคเหนือ
         ใบชา เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักเล็ก ๆ หรือเป็นฟันเลื่อย หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน คล้ายใบข่อยแต่จะยาวและใหญ่กว่า ส่วนก้านใบสั้น
          ดอกชา ออกดอกเป็นช่อหรือเป็นกระจุกตามง่ามใบ ลักษณะคล้ายกับดอกส้มเขียวหวาน โดยดอกชาจะมีลักษณะใหญ่สีสวย ดอกเป็นสีขาวนวล และมีกลิ่นหอม ช่อหนึ่งมีประมาณ 1-4 ดอก
          ผลชา เป็นผลแบบแคปซูล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออก หนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมแบน หรือค่อนข้างกลม ผิวเมล็ดเรียบ เป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำหรือสีน้ำตาลอมแดง

2.2 กลุ่มชาพันธุ์อัสสัม (Assam tea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. assamica มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ชาอัสสัม ชาป่า ชาพื้นเมือง ชาเมี่ยง เป็นต้น ชาชนิดนี้จะเป็นพันธุ์ชาที่ใบใหญ่กว่าชาพันธุ์จีน เจริญเติบโตได้ดีในป่าเขตร้อนชื้นที่มีร่มไม้และแสงแดดพอประมาณ ในประเทศไทยพบได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน





ภาพที่ 2.2 ตัวอย่างลักษณะต้นชาพันธุ์อัสสัม


ลักษณะส่วนต่างๆของต้นชาพันธุ์อัสสัม

            ต้นชา เป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผิวลำต้นเรียบ ตามกิ่งอ่อนปกคลุมไปด้วยขนอ่อนๆ ความสูงของต้นประมาณ 6-18 เมตร มีขนาดใหญ่กว่าชาจีนอย่างเด่นชัด กิ่งที่มีอายุมากจะเปลี่ยนเป็นสีเทา
ใบชา เป็นใบเดี่ยว ออกสลับและเวียน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเด่นชัด โดยมีหยักฟันเลื่อยประมาณ 9 หยัก  แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม ก้านใบและท้องใบมีขนอ่อนปกคุลม
ดอกชา ดอกเจริญจากตาบริเวณง่ามใบบนกิ่ง ส่วนใหญ่ดอกออกติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ช่อละประมาณ 2-4 ดอกต่อตา ขนาดไม่เท่ากัน ลักษณะเป็นรูปทรงโค้งมนยาว โคนกลีบติดกับฐานดอกแคบ ส่วนปลายกลีบบานออก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3.65 เซนติเมตร
ผลชา เป็นแบบแคปซูล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร เมื่อแก่เต็มที่เปลือกจะแตกออก ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม ผิวเมล็ดเรียบแข็ง เป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง หรือสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ


ดังที่ได้กล่าวมานั้น ก็เป็นลักษณะขององค์ประกอบต่างๆในต้นชา ซึ่งถ้าได้อ่านและศึกษาก็จะทราบว่าส่วนต่างๆของต้นชานั้นมีอะไรบ้างและมีลักษณะยังไง


3. ประเภทของชา
   
       ในทุกๆวันของเรานั้นอาจจะบริโภคชาอยู่แค่บางชนิด บางประเภทที่หาได้ทั่วไป หรือจะเป็นชาสำเร็จรูป ชาที่มีการปรุงแต่งรสชาติแล้วต่างๆ แต่จริงๆแล้วนั้นชามีอยู่หลายประเภทซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยรู้เลย ไม่ว่าจะเป็นชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง ชาดำ และชาผู่เอ๋อ และชาแต่ละประเภทนั้นก็มีลักษณะต่างๆไม่เหมือนกัน มีประโยชน์ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะได้ศึกษาต่อจากนี้

ชาขาว (White Tea)

ชาขาว คือ ชาที่ผลิตจากยอดอ่อนของต้นชา โดยการเลือกเก็บยอดอ่อนชาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นนำมาตากให้แห้งด้วยวิธีธรรมชาติอย่างรวดเร็ว จะไม่ผ่านการหมักใบชาเหมือนชาชนิดอื่นๆ ทำให้ยังคงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในใบชาได้มาก จึงขึ้นชื่อในเรื่องการดื่มเพื่อต้านความแก่ชราก่อนวัย หรือการชะลอความแก่ อีกทั้งยังคงคุณค่าทางโภชนา รสชาติและกลิ่นของชาขาวมีความหอมนุ่มนวล ประเภทชาขาวที่มีคุณภาพดีที่สุดเรียกว่าชาขาวเข็มเงิน (Silver Needle) จะเก็บระหว่าง 15 มีนาคมถึง 10 เมษายนของทุกปี และจะต้องเก็บด้วยมือภายในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง แหล่งเพาะปลูกที่มณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน

ชาเขียว (Green Tea)

ชาเขียวเก็บมาจากยอดอ่อนของชา โดยการนำไปอบแห้งทันที ไม่ผ่านการหมัก เพื่อไม่ให้ใบชาเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับออกซิเจน ทำให้ได้ใบชาที่ยังมีสีเขียว มีรสชาติ สี และกลิ่นใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด มีคุณสมบัติต้านทานโรคได้หลายชนิด ชาเขียวแบ่งประเภทออกได้หลักๆ 2 ประเภทคือชาเขียวญี่ปุ่นซึ่งไม่ผ่านการคั่วและชาเขียวแบบจีนที่ผ่านการอบการคั่วด้วยกระทะร้อน

ชาอู่หลง (Oolong Tea)

ชาอู่หลงเป็นชาประเภทกึ่งหมักหรือชาที่ผ่านการหมักเพียงบางส่วน โดยผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยการผึ่งแห้งใบชาด้วยแสงอาทิตย์เพื่อให้ใบชาคายน้ำ หลังจากนั้นทำไปผึ่งในที่ร่มภายใต้การควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งเป็นการหมักใบชาเพียงบางส่วน จากนั้นนำมานวดอัดเป็นเม็ด  มีคุณสมบัติเด่นๆคือการช่วยดักจับไขมัน และควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากชาอู่หลงมีสารชนิดพิเศษที่เรียกว่า OTTPs มีส่วนช่วยลดการดูดซึมไขมันของรางกาย

ชาดำ (Black Tea)

ชาดำเป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์หากยิ่งป่มนานยิ่งได้รสชาติมากขึ้น สรรพคุณโดดเด่นในเรื่องช่วยการย่อยอาหาร ลดครอเลสเตอรอล และลดการดูดซึมไขมันในลำไส้ ชาวตะวันตกนิยมชาชนิดนี้เป็นพิเศษ ชาดำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อาทิเช่น ชาอัสสัม ชาซีลอน ชาดาจีลิ่ง ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศอินเดียและศรีลังกาตามชื่อชานั่นเอง

ชานั้นมีอยู่หลายประเภท หลายชนิดซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ชาแต่ละประเภทจะผ่านกรรมวิธีในการผลิต หรือแปรรูปจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆหรือเป็นชาสำเร็จรูปซึ่งจะมีประโยชน์แตกต่างกันไปตามชนิดของชาที่ผ่านกรรมวิธีนั้นๆ

4. ตัวอย่างชา
ชามีหลายชนิดหลายประเภท ซึ่งชาแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป ในประเด็นนี้ก็จะเป็นตัวอย่างของชาชนิดต่างๆ



                                          
 ภาพที่ 4.1 ตัวอย่างชาขาว    

       
 ภาพที่ 4.2 ตัวอย่างชาเหลือง




ภาพที่ 4.3 ตัวอย่างชาเขียว

                                                                          




ภาพที่ 4.4 ตัวอย่างชาอู่หลง




ภาพที่ 4.5 ตัวอย่างชาดำ





ภาพที่ 4.6 ตัวอย่างชาผู่เอ๋อ


5. สรรพคุณของชา
   
  ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้บริโภคเป็นอย่างมาก งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ของชาเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ50ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ความรู้ตรงกันว่าชามีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มโพลีฟีนอล และคาเทซินที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. ใบนำมาต้มเคี่ยวเอาน้ำกิน ช่วยกระตุ้นทำให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน ทำให้ตาสว่าง กระตุ้นให้หายเหนื่อย (ใบ)
2. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ หน้ามืดตามัว (ใบ)
3. ใบชานำมานึ่งแล้วหมักกับเกลือ ทำเป็นคำ ๆ ใช้อม จะช่วยทำให้คอชุ่ม แก้อาการกระหายน้ำได้ดีมาก (ใบ)
4. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ใบ)
5. ใบชามีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ใบ)
6. รากชามีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น แก้โรคหัวใจบวมน้ำ (ราก)
7. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)
8. กิ่งและใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด (ใบ,กิ่ง)
9. ใบมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานใช้รักษาและลดอาการท้องร่วง (ใบ)
10. ใบใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ)
11. ใบแห้ง ใช้ชงใส่น้ำตาล กินเป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ใบ)
12. รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)
13. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ)
14. ช่วยขับปัสสาวะ (ราก,ใบ)
15. ช่วยแก้ตับอักเสบ (ราก)

สรรพคุณเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ที่มีอยู่ในชาทุกชนิด แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์ชา การดูแลต้นชา และเทคนิคการผลิตใบชา ดังนั้น ดื่มรสชา เลือกความหอม ตามสไตล์ที่คุณชื่นชอบ จึงจะได้ประโยชน์จากการดื่มมากที่สุด

6. ประโยชน์ และ โทษ ของชา
    
    สถาบันสุขภาพอเมริกา พบว่า ชาทั้งหลายล้วนมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ เพราะในชามีสารคาเทชิน(Catechinsหรือ EGCG) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินอี 20 เท่า และสามารถยับยั้งการสร้างสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากดินปะสิวในอาหาร ที่เกิดขึ้นเมื่อเจอกับสารอามีน ในอาหารทะเล เป็นตัวก่อมะเร็งได้หลายชนิด ซึ่งสารคาเทชินจะพบในชาเขียวมากที่สุด ในชาเขียวยังมีสารสำคัญคือสารโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารแทนนิน ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย แต่หากคนปกติดื่มชาแบบเข้มข้นมากเกินก็ทำให้ท้องผูก และสารกาเฟอีน ซึ่งในชาจะมีคาเฟอีน 30-40% ของกาแฟ 

     ประโยชน์ของชา

1. ชาแต่ละชนิดมีวิตามินอยู่มากมาย ได้แก่  A, B1, B2, B3, P, PP, C เป็นต้น ซึ่งมีวิตามีน C มากที่สผู้ใหญ่จึงดื่มชาเขียวสองถึงสามถ้วยทุกวัน ทำให้ได้รับวิตามิน C ในปริมาณครึ่งหนึ่งที่ร่างกายต้องการ
2. ชาช่วยย่อยสลายไขมัน ลดคลอเรสเตอรอลได้ โดยเฉพาะชาอู่หลง ช่วยสลายพลังงานไป 40 แคลลอรี่ (เทียบได้กับเดินเร็ว 15 นาที หรือเดินขึ้นลงบันได้10 นาที)ยิ่งกว่านั้นอู่หลงยังเหมาะสำหรับคนที่เวลาเครียดหรืออารมณ์หงุดหงิดแล้วหาทางออกด้วยการกินได้อีกด้วย เพราะอู่หลงจะไปช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง
3. ชาช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผนังเส้นเลือดและขยายหลอดเลือด ช่วยลดความดันและป้องกันเส้นเลือดตีบได้
4.ชายังช่วยป้องกันฟันผุได้ด้วย ดังจะเห็นว่ายาสีฟันเริ่มมีผสมใบชามาขายกันแล้ว
5. ในชาเขียวมีสาร Catechin Polyphenol โดยเฉพาะอย่างยิ่ง EpigallocatechinGallate (EGCG) ที่มีอยู่มากในชามีคุณสมบัติเป็นสารต้านพิษ และยังช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อส่วนดี นอกจากนั้นยังช่วยลดระดับ LDL คอเรสเตอรอลในเลือด ป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหัวใจวาย และลมชัก

 โทษของชา
     
       ไม่มีสิ่งใดบนโลกที่มีแต่ประโยชน์แล้วไม่มีโทษ การดื่มชาก็มีโทษแอบแฝงอยู่เช่นกัน เพราะในใบชามี กรดแทนนิก(Tannic Acid) ประกอบอยู่ ซึ่งจะพบในชาแดงมากกว่าชาเขียว ยิ่งใบชาเกรดต่ำก็ยิ่งมีกรดแทนนิกสูง เพราะจะเกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร
1.ไม่ควรดื่มชาขณะกินยา เพราะสารต่างๆ ในน้ำชาอาจทำปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ต่อยาที่กินเข้าไป อาจทำให้คุณสมบัติของยาเจือจางหรือเสื่อมสภาพลง หรือขั้นร้ายแรงอาจกลายเป็นสารพิษได้ ถ้าหากอยากดื่ม ควรดื่มก่อนหรือหลังทานยาประมาณ 2 ชั่วโมง
2.ไม่ควรดื่มชาก่อนนอนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ คนชรา และเด็กเล็ก           3.ไม่ควรดื่มชาร้อนจัด เพราะการดื่มของร้อนจัดมีผลข้างเคียงต่อช่องปาก ลำคอ ลำไส้ได้ อาจทำให้เนื้อบางส่วนในช่องปากตาย และอาจเป็นต้นเหตุกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้


           4.ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ไม่ควรดื่มน้ำชามาก เพราะจะทำให้ปัสสาวะบ่อยและไตต้องทำงานหนักขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพของไตยังทำงานได้ไม่เต็มที่
           5.เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่ควรดื่มน้ำชา เพราะกรดแทนนิก เมื่อรวมตัวกับธาตุเหล็กในกระเพาะอาหารและลำไส้จะกลายเป็นสารที่ไม่สามารถละลายได้ ทำให้เด็กเล็กไม่เติบโต มีอาการขาดธาตุเหล็กและเป็นโรคโลหิตจางได้
           6.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่หลอดเลือดแดงใหญ่ในหัวใจอุดตันไม่ควรดื่มน้ำชาเข้มข้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินไป หากความดันโลหิตขึ้นสูงมาก หรือหัวใจถูก กระตุ้นมากเกินขีดจะเป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างรวดเร็วฉับพลัน

         เพื่อสุขภาพที่ดีของเราควรจะศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของชาให้ดี เพราะถึงแม้ประโยชน์ของการดื่มชาจะมีมากแต่ก็มีโทษด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าหากดื่มชาไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ฉะนั้นศึกษาไว้จะได้เป็นการป้องกันและได้ประโยชน์จากการดื่มชาที่แท้จริง


7. ข้อควรระวังในการดื่มชา

สำหรับบางคน การดื่มชาอาจจะไม่เหมาะสมและอาจทำให้เกิดโทษได้ ได้แก่ ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ กระเพาะเป็นแผล สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ที่มีไข้สูง ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ รวมไปถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบก็ไม่ควรดื่มชา
 1. ผู้ที่มีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับยาก หรือเป็นโรคนอนไม่หลับ ไม่ควรดื่มชาก่อนเข้านอน เพราะคาเฟอีนที่มีอยู่ในชาจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ไม่ง่วงนอน และลดความสามารถและระยะเวลาในการนอนหลับ
            2. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ไม่ควรดื่มชา เพราะคาเฟอีนจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
 3. คาเฟอีนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ดังนั้นชาจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
 4. ผู้ที่มีไข้สูง ไม่ควรดื่มชาเพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ทำให้ตัวร้อนมากขึ้น และแทนนินยังทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาน้อยกว่าปกติ
 5. คาเฟอีนมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้จึงไม่ควรดื่ม เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัด อาเจียนออกมาเป็นน้ำใสๆ และไม่ควรดื่มชาเวลาท้องว่างในตอนเช้า เพราะจะทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ แต่ถ้าอยากดื่มชาในตอนเช้า ก็ควรหาอะไรกินรองท้องก่อน
 6. ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ก็ไม่ควรดื่มชามากจนเกินไป เพราะร่างกายจะไม่สามารถขับน้ำออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ และทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
 7. ผู้ป่วยไทรอยด์ไม่ควรดื่มชา เพราะอาการกระสับกระส่ายจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเพราะฤทธิ์ของคาเฟอีน
 8. สำหรับสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดไม่ควรดื่มชา โดยเฉพาะก่อนและหลังกินยาคุม 4 ชั่วโมง เพราะสารแทนนินจะทำให้สารต่าง ๆ ในยาคุมกำเนิดละลายตัวยากและดูดซึมได้น้อยลง
 9. สตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ควรดื่มชา สาเหตุก็เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้
10. แม่ลูกอ่อนที่ให้นมลูก ก็ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้สารต่าง ๆ ในน้ำชาจะผ่านไปทางนมแม่ ทำให้ทารกขาดแร่ธาตุสำคัญ และยังทำให้ความสามารถในการขับน้ำนมของแม่ลดลงด้วย
11. เด็กเล็กก็ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้ร่างกายย่อยและดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่ เป็นอุปสรรพคุณต่อการเจริญเติบโต


8. ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของชาเขียว
    
         นอกจากอาหาร ได้แก่ ขนมปัง เค้ก ขนม ขบเคี้ยว ช็อกโกแลต หมากฝรั่ง ลูกอม ฯลฯ ที่นำชาเขียวมาใช้แต่งกลิ่น สีและรสชาติของอาหารแล้ว เพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ผู้ผลิตได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากชาเขียวหลั่งไหลออกมาสู่ท้องตลาด นับตั้งแต่ของใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง สบู่ เกลืออาบน้ำ โลชั่น ครีม น้ำยาดับกลิ่นกาย ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และเครื่องสำอางต่างๆ นอกจากนี้มีการนำสรรพคุณของชาเขียวในการเป็นสารแอนติออกซิแดนซ์ที่ทรงพลังมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันและน้ำมัน เพื่อป้องกันไม่ให้เหม็นหืนเร็ว มีการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการนำสารสกัดจากชาเขียวมาใช้เป็นสารกันบูดสำหรับอาหารสดไปจนถึง การนำชาเขียวมาผสมกับ เส้นใยผ้า เป็น "antimicrobial fiber" สำหรับเสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น และมีการนำไปใช้เป็น ส่วนผสมในแผ่นใยกรองอากาศสำหรับเครื่อง ปรับอากาศ นับว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ และ เข้ากับกระแสนิยมทีเดียว
         
ตัวอย่าง

2. คัพเค้กชาเขียว Green Tea Cupcake
3. เค้กไวท์ช็อกโกแลตชาเขียว Green Tea and White Chocolate Cake
4. มาการองชาเขียว

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น เราสามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่มีชาเป็นส่วนประกอบได้อีกมากมายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นของใช้ภายนอก หรือแม้แต่อาหารที่เรารับปะทานเข้าไปก็มีชาเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน


9. เคล็ดลับการชงชา

ชาร้อนๆ ดีๆ สักถ้วยสามารถทำให้จิตใจและจิตวิญญาณของผู้หลงใหลในการดื่มชาอบอุ่นขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราชงชาไม่ถูกวิธี ชาอาจจะมีรสขมปร่าหรือจืดชืดอย่างน่าเสียดายได้ การเตรียมการชงชาอย่างรอบคอบจะสามารถดึงเอาทั้งรสชาติและสรรพคุณของชาออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้นเรามาชงชาอย่างถูกวิธี ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

วิธีที่1 : อุ่นกาใส่ชาให้ร้อนก่อนเสมอ : การใส่น้ำร้อนลงไป แล้ววนรอบในกา แล้วเททิ้ง เพื่อเป็นการวอร์มทำให้การ้อนก่อน สาเหตุก็เพราะใบชาต้องการความร้อน

วิธีที่2 : ปริมาณต้องพอเหมาะ อุณหภูมิน้ำเดือดต้องพอดี : ความเข้มของชาจะขึ้นอยู่กับจำนวนชาและจำนวนน้ำเป็นหลัก ถ้าใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสจะทำให้ชากลุ่มนี้ขมเกินไป

วิธีที่3 : ชาแบบซองไม่ต้องแกว่ง แต่ให้ใช้เวลา : ควรปล่อยไว้นิ่ง ๆแล้วรอจนกว่าจะครบ 3 นาที แล้วจึงค่อยนำถุงชาออกมา

วิธีที่4 : คุณภาพของชา : ควรเก็บใบชาไว้ในภาชนะที่มีผาปิดสนิท และไม่วางรวมกับของที่มีกลิ่นแรง

วิธีที่5 : น้ำที่ใช้ชงชา : ไม่ใช้น้ำที่ผ่านการต้มมาแล้วหลายครั้งมาใช้ชงชา

วิธีที่6 : กาที่ใช้ชงชา : ควรล้างให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะหากกาชามีคราบฝังอยู่เนื่องจากล้างกาไม่สะอาด จะทำให้น้ำชาที่ได้มีรสชาติขมเกินไป

วิธีที่7 : การเสิร์ฟชา : ก่อนเสิร์ฟชา ควรหมุนวนกาน้ำชาสักสามรอบก่อนนำมาเสิร์ฟ หากปล่อยไว้นานเกิน 10 นาที จะทำให้รสชาติของชาเปลี่ยนไป

วิธีที่8 : การดื่มชา : เวลาที่เหมาะสมสำหรับการดื่มชาคือหลังอาหารประมาณ 2-3 ชั่วโมง และไม่ควรดื่มชาที่ชงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง เพราะน้ำชาอาจบูด และทำให้สารต่าง ๆ ทำปฏิกิริยากัน ทำให้ชาเสื่อมคุณภาพ

ความคุ้นเคยในวิธีชงชาใบแบบเดิม ทำให้บางครั้งเราไม่ได้รับรสชาที่แท้จริง การชงชาแต่ละชนิดมีความเฉพาะที่แตกต่างจากหลักการเบื้องต้นไม่มากนัก แต่ก็มีความละเอียดอ่อนของตัวชาเอง ซึ่งการชงชาให้ได้รสอร่อยมีนั้นสำคัญยิ่งนัก


10. การส่งออกและนำเข้าของชา

การส่งออกและนำข้าวของชานั้น จะต้องมีการควบคุมเพื่อให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติตามพันธกรณีตามความตกลงทางการเกษตร ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)และเพื่อคุ้มครองการผลิตชาภายในประเทศ โดยมีกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานที่ดูแลหรือควบคุมการส่งออก-นำเข้า
  
        ระเบียบและหลักเกณฑ์การนำเข้า

1. ต้องขออนุญาตนำเข้าโดยผู้นำเข้าจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จะต้องซื้อชาที่ผลิตภายในประเทศจากองค์การคลังสินค้าชดเชยตามอัตราส่วนที่กำหนด คือ ชาใบร้อยละ 60 และชาผงร้อยละ 50 ของปริมาณที่ขออนุญาตนำเข้า
2. นำเข้าจากประเทศสมาชิก WTO หรือภาคีแกตต์ 1947
3. นำเข้าภายใต้ความตกลงไทย-ออสเตรเลีย
4. นำเข้าภายใต้ความตกลงไทย-นิวซีแลนด์
5. นำเข้าภายใต้ความตกลงไทย-ญี่ปุ่น
6. นำเข้าภายใต้ความตกลงอาเซียน-เกาหลี
7. นำเข้าภายใต้ความตกลงอาเซียน
8. การรายงานการนำเข้าผู้ได้รับหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนต้องรายงานการนำเข้าต่อกรมการค้าต่างประเทศภายใน 20 - 30 วัน (ดูเงื่อนไขตามระเบียบของแต่ละความตกลงฯ)ตามแบบที่กำหนด นับแต่วันที่นำสินค้าเข้าแต่ละครั้งพร้อมสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสลักรายการถูกต้อง



จากการศึกษาเกี่ยวกับชาประเภทต่างๆ ทำให้เราทราบถึงประโยชน์ของชา โทษของชา สรรพคุณของชา และข้อมูลอื่นๆอีกมากมายที่เกี่ยวกับชา จะเห็นได้ว่าชาไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องดื่มธรรมดาเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยในการรักษาโรคต่างๆได้อีกมากเลยทีเดียว ปัจจุบันจึงมีผู้นิยมดื่มเครื่องดื่มชา เพื่อรักษาสุขภาพและความเจ็บป่วยของตนเอง